ย้อนกลับไปดู “ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยในไทย”
10 มี.ค.

ย้อนกลับไปดู “ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยในไทย”

เปลี่ยนระบบ 6 รอบแล้วนะ มีอะไรบ้าง ?? มาดูกันนะคะ

1. ระบบ Entrance ยุคแรก ปี 2504 – 2542
ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในยุคแรก ๆ นั้น เป็นการสอบเข้าแบบที่ยังไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามาดูแลเป็นทางการ แต่เกิดจากความร่วมมือกันของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในยุคนั้นจัดสอบขึ้นมากันเอง เพื่อแก้ปัญหาที่นักเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายสมัครสอบแต่ละที่หลายครั้ง โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน  รูปแบบการสอบยุคนี้ เปิดให้นักเรียนเลือกคณะที่สนใจเข้าศึกษาได้ 4 อันดับ (ภายหลังปี 2516 เปลี่ยนเป็น 6 อันดับ) จากนั้นก็เข้าสอบเอ็นทรานซ์ โดยใช้คะแนนสอบเอ็นทรานซ์ 100% ไม่ต้องใช้เกรดเฉลี่ยในโรงเรียนและสามารถสอบเทียบได้ หากมีความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นการสอบแบบครั้งเดียว หากไม่ติดต้องรอสอบใหม่ปีหน้าเลยทีเดียว
.
2. ระบบ Entrance ยุคใหม่ ปี 2542 – 2548
โดยเปิดให้สอบเอ็นทรานซ์ได้ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนตุลาคม และเดือนมีนาคม เพื่อให้เด็กได้รู้คะแนนสอบตัวเองก่อน และสามารถเลือกคะแนนครั้งที่ดีที่สุดของตัวเองมายื่นได้ สามารถเลือกยื่นคณะได้ 4 อันดับ รวมถึงสัดส่วนคะแนนที่เปลี่ยนไปจากเดิมใช้คะแนนสอบเอ็นทรานซ์ 100% ในยุคนี้ได้มีการเพิ่มวิธิคิดสัดส่วนคะแนนใหม่ โดยใช้เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAX) มาร่วมคิดคะแนนด้วย ประมาณ 10%
.
3. ระบบ Admission : O-NET , A-NET ปี 2549 – 2552
เข้าสู่ยุค ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาŽ หรือว่า แอดมิชชั่น (Admission) แทน
ในยุคนี้ได้มีการเพิ่มรูปแบบข้อสอบแบบใหม่ขึ้นมาในชื่อ O-NET และ A-NET เข้ามาเป็น 1 ในสัดส่วนการคิดคะแนนในยุคนี้ ซึ่งสัดส่วนคะแนนนั้น จะประกอบด้วยเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAX) 30% รวมกับคะแนน O-NET และ A-NET
โดยการสอบ O-NET จะเป็นการสอบขั้นพื้นฐานทั่วไป 8 วิชาสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย สอบได้เพียงครั่งเดียวเท่านั้น ส่วน A-NET นั้นจะเป็นข้อสอบเสริมที่จะมีความยากขึ้นกว่า O-NET เน้นไปที่ด้านการคิดวิเคราะห์มากขึ้นอีก 5 วิชา แต่ A-NET นั้นจะสามารถสอบได้มากกว่า 1 ครั้งและเลือกครั้งที่ดีที่สุดได้
.
4. ระบบ Admission : GAT / PAT  ปี 2553 – 2560
หลังจากถูกตั้งคำถามในเรื่องมาตรฐานของข้อสอบ A-NET ที่ทำให้หลายมหาวิทยาลัยหันมาเปิดรับตรงมากขึ้น ก็ได้มีการยกเลิกการสอบไป และปรับมาใช้ข้อสอบแบบใหม่ซึ่งเป็นการสอบวิชาความถนัดในด้านต่าง ๆ หรือที่คุ้นหูกันว่า GAT/PAT
โดย GAT จะเป็นการทดสอบความถนัดทั่วไป ส่วน PAT จะเป็นการทดสอบความถนัดทางด้านวิชาชีพ เปิดให้สอบได้ 2 – 3 ครั้งแล้วแต่ปี
ซึ่งสัดส่วนคะแนนในยุคนี้ยังคงมีคะแนน O-NET มาคิด 30% รวมกับ GPAX 20% และคะแนน GAT/PAT ครั้งที่ดีที่สุดประมาณ 50 % ซึ่งแล้วแต่คณะ แล้วแต่มหาวิทยาลัยจะกำหนด
ต่อมาในปี 2555 ทางกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ให้ความเห็นว่าการสอบ GAT/PAT นั้นไม่ตอบโจทย์การคัดเลือกนักเรียกจริง ๆ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดสอบ 7 วิชาสามัญ รวมถึงระบบ ‘เคลียริงเฮาส์’ เพิ่มเข้ามาในปีนี้ เพื่อลดปัญหาเด็ก ๆ สอบติดแต่กั๊กที่เรียนกัน
กระทั่งปี 2558 ได้มีการปรับลดวิชาในข้อสอบ O-NET ลงจาก 8 วิชาเหลือ 5 วิชา โดยตัดวิชาศิลปะ, พลศึกษา, สุขศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยีออก
แต่พอในปี 2559 แม้จะลดวิชา O-NET ลงไปแล้ว แต่ก็ได้เพิ่มการสอบจาก “7 วิชาสามัญ” เป็น “9 วิชาสามัญ” แทน โดยได้มีการเพิ่มวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กสายศิลป์เพิ่ม
.
5. ระบบ TCAS ปี 2561 – 2565
มาถึงระบบล่าสุดที่ใช้อยู่ปีนี้ ( ปีสุดท้ายแล้ววว )
มีการเลิกใช้คำว่า “Admission” เปลี่ยนมาเรียกว่าระบบ Thai University Central Admission System หรือ TCAS แทน ซึ่งรูปแบบการสอบในยุคนี้ ได้เลื่อนการสอบทั้งหมดมาสอบช่วงหลังจบ ม.6 ทั้งหมด และลดการสอบทั้งหมดเหลือเพียงอย่างละครั้งเดียว
โดยมีการเปิดรับสมัครทั้งหมด 5 รอบ ได้แก่
รอบที่ 1 ยื่นด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ไม่มีการสอบข้อเขียน และให้มหาวิทยาลัย คัดเลือกเด็กโดยตรง
รอบที่ 2 รับแบบโควต้า ที่เหมาะสำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่/ภาคที่มีโควต้าโรงเรียน และโครงการความสามารถพิเศษ ที่ได้เห็นกันอยู่บ่อยๆก่อนหน้านี้
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน เลือกได้ 4 สาขา โดยไม่มีลำดับ หมายความว่าอาจจะผ่านได้ทั้งหมด 4 อันดับเลย แล้วค่อยเลือกสาขาที่ต้องการ
รอบที่ 4 การรับแบบแอดมิชชั่น เลือกได้ 4 สาขา โดยมีลำดับ คล้ายๆกับระบบ Admission เดิม
รอบที่ 5 รับตรงแบบอิสระ ซึ่งบางแห่งเรียกว่ารอบเก็บตก คัดเลือกโดยสถาบัน/มหาวิทยาลัย โดยตรง เป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กมีที่เรียนในสถาบันที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น
.
และะะะ ปี 2564 ได้ยุบรอบการคัดเลือกเหลือ 4 รอบ โดยมีเกณฑ์รอบรับตรงร่วมและรอบแอดมิชชันเหมือนเดิม แต่เปิดให้ยื่นคะแนนพร้อมกัน
นักเรียนสามารถเลือกได้สูงสุด 10 อันดับ มีการประกาศผล 2 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กสละสิทธิ์ และมีการประมวลผลเรียกตัวสำรอง ให้มีสิทธิเข้าศึกษาได้
.
6. ระบบ TCAS ปี 2566 เป็นต้นไป – เมื่อไรไม่รู้ คิดว่าไม่นานค่ะ >3<

“ข้อสอบแบบใหม่ที่ไม่เคยเจอ!”

  • ผลคะแนน  TGAT TPAT และวิชาสามัญ ทุกวิชาจะมีอายุ 1 ปีเท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าจะซิ่ว ต้องสอบใหม่ทุกปี
  • ถึงจะเป็นการสอบบนคอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นการสอบในสนามที่จัดไว้ให้ ซึ่งจะมีศูนย์สอบหลายแห่ง อาจจะเป็นมหาวิทยาลัย โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดกลาง หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีคอมพิวเตอร์รองรับ
  • ทางทปอ.จะมี demo ระบบสอบ หรือตัวอย่างระบบสอบให้น้องๆ ได้เห็น และทดลองใช้งานระบบก่อนการสอบจริง

โดยปรับรายวิชา GAT เปลี่ยนเป็น TGAT มี 3 ส่วน (สอบทุกส่วน) ได้แก่
1. การสื่อสารภาษาอังกฤษ
2. การคิดอย่างมีเหตุผล
3. สมรรถนะการทำงานในอนาคต
เลือกสอบในเดือนธันวาคม 2565 ใช้สำหรับการคัดเลือกในรอบ Portfolio/Quota/Admission
.
รายวิชา PAT เปลี่ยนเป็น TPAT มี 5 รายวิชา ได้แก่
1. วิชาเฉพาะ กสพท
2. ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
3. ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์
4. ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
5. ความถนัดทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
สอบในเดือนธันวาคม 2565 ใช้สำหรับการคัดเลือกในรอบ Portfolio/Quota/Admission
.
รายวิชาสามัญ เป็น รายวิชาสามัญที่เน้นการนำความรู้ไปใช้งาน (Applied Knowledge) ได้แก่
1. คณิตศาสตร์ประยุกต์ มี 2 ส่วน คือ คณิตศาสตร์พื้นฐาน และ คณิตศาสตร์เพิ่มเติม (เลือกสอบเฉพาะ คณิตศาสตร์พื้นฐาน หรือ สอบทั้ง 2 ส่วน โดยสาขาวิชาอาจเลือกใช้คะแนนเพียงคณิตศาสตร์พื้นฐาน และ/หรือ คณิตศาสตร์เพิ่มเติมด้วย ก็ได้)
2. วิทยาศาสตร์ประยุกต์
3. ฟิสิกส์
4. เคมี
5. ชีววิทยา
6. ภาษาไทย
7. สังคม
8. ภาษาอังกฤษ
9. ภาษาต่างประเทศ (ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน อาหรับ บาลี เกาหลี)
สอบเดือนมีนาคม 2566 สำหรับการคัดเลือกในรอบ Quota / Admission
.
.
จะเห็นได้ว่า #TCAS66 จะกลับมาให้สอบตั้งแต่ยังไม่จบ ม.6 เหมือนสมัยเก่าๆเลยค่ะ
และ พี่แอดมินจะติดตามข่าวสาร เพื่อมาอัพเดทเพิ่มเติมให้น้องๆได้ทราบกันอีกครั้งหน้านะคะ
.

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.mangozero.com/60years-entrance-evolution/

About the Author

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

ให้คำปรึกษาฟรี